"มีผู้ป่วยรายหนึ่งที่เราพบในชุมชน ได้รับยาลดน้ำตาลทั้งก่อนอาหารและหลังอาหารหลายเม็ด จึงปรับลดยาเอง มียาตัวหนึ่งชื่อ Metformin รับประทานครั้งละ 3 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร แต่ด้วยความที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ป่วย คุมน้ำตาลได้แล้ว จึงปรับลดจำนวนการกินยาของตัวเองลง ซึ่งนอกจากเราจะพบยาชนิดเดียวกันเหลืออยู่ในบ้านถึง 859 เม็ดแล้ว...
สิ่งที่เกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่งก็คือการควบคุมน้ำตาลก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมายการรักษาของแพทย์ ซึ่งเราพบผู้ป่วยในลักษณะปัญหาแบบนี้จำนวนมาก และพบยาเหลือเฉลี่ยคนละตั้งแต่ 10 เม็ด จนถึง 800 เม็ด"
เรื่อง ยา กับความเจ็บป่วยถือเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่บางครั้งความรู้สึก และความเชื่อแบบชาวบ้านก็ทำให้เกิดผลกระทบมหาศาลตามมา
ภญ.ศิริรัตน์ บอกว่า ผู้ป่วยบางคนมีความเชื่อและพฤติกรรมการกินยาแบบผิดๆมาตลอด เช่น การตัดแผงยาออกแล้วนำยาทั้งหมดใส่กล่องหรือใส่โหล เวลาที่จะต้องกินยาก็สุ่มๆหยิบเอา
อย่างมีผู้ป่วยรายหนึ่ง ต้องกินยา 3 เม็ดหลังอาหารเช้า เป็นยาลดความดัน ซึ่งยาแต่ละตัวมีขนาดและประสิทธิภาพการรักษาต่างกันในแต่ละมื้อ แต่ผู้ป่วยเข้าใจเอาเองว่า ยาลดความดันเหมือนกัน กินตอนไหนก็ได้ ก็นำยาทั้งหมด 3 ชนิด คือ...
Amlodipine, HCTZ, Enarapril ตัดแผงออกแล้วใส่รวมกันในโถ พอกินข้าวเสร็จในแต่ละมื้อ ก็สุ่มหยิบยาขึ้นมา 3 เม็ด ในบางวันก็จะได้ยาเพียงตัวเดียว เช่น Amlodipine 3 เม็ดแทนที่จะได้ยาครบตามที่แพทย์สั่ง
"เหตุการณ์แบบนี้ ถ้าไม่ได้เจอกับตัวเอง จะไม่เชื่อเลยว่ามันเกิดขึ้นได้จริงๆ แต่เมื่อมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วย เภสัชกรจึงต้องทำความเข้าใจ และให้ความรู้ในการจัดเก็บแยกยาเป็นแต่ละประเภท เพื่อให้ผู้ป่วยกินยาได้อย่างถูกต้อง ส่งผลต่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพด้วย" ภญ.ศิริรัตน์ย้ำ
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาที่พบ ยังไม่รวมเรื่องของการกินยาไม่ตรงตามที่หมอสั่ง หรือยาชนิดเดียวกันแต่บังเอิญบริษัทยาเปลี่ยนสีของยาใหม่ หรือเปลี่ยนรูปแบบของซองยา แผงยา ชาวบ้านจำนวนมากมักจะคิดว่าไม่ใช่ยาตัวที่เคยได้รับจากแพทย์ ก็จะเก็บไว้ไม่ยอมกินยา แล้วกลับไปกินยาเก่าที่เหลือในบ้าน ซึ่งบางทีก็หมดอายุแล้ว หรือกินรวมกันระหว่างยาเก่ากับยาใหม่ ผสมปนเปกันให้ยุ่งไปหมด
ขณะที่บางคนไม่เชื่อ ยาที่ "หมอสั่ง" แต่เชื่อเพื่อนบ้านที่บอก เช่น การกินยาเยอะๆทำให้ไตและตับพัง จึงหยุดยารักษาทางแพทย์แผนปัจจุบันที่ได้รับจากโรงพยาบาล สุดท้ายโรคก็ไม่หาย แถมยังมีอาการป่วยเพิ่มมากขึ้นไปอีก
ยังไม่รวมการหันไปกินยาสมุนไพร หรืออาหารเสริมที่มีการโหมโฆษณาว่ารักษาได้สารพัดโรคอีกส่วนหนึ่งด้วย
ภญ.วุฒิรัต ธรรมวุฒิ
|
ภญ.วุฒิรัต ธรรมวุฒิ เภสัชกรจากสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) เสริมว่า จากการทำงานเป็นเภสัชกรในโรงพยาบาล จะพบปัญหาการใช้ยาของผู้ป่วยที่ทำให้มียาเหลือใช้ในบ้านเป็นจำนวนมากในอีกรูปแบบหนึ่ง
"คุณป้าคนหนึ่งมาโรงพยาบาล หมอบอกว่าให้นำยาที่เคยกินมาด้วย จะได้ปรับขนาดยาและดูว่ามียาตัวไหนแล้วบ้าง ควรสั่งเพิ่มยาตัวไหน ปรากฏว่า... วันที่มาโรงพยาบาล คุณป้าคนนี้หิ้วกระเป๋าเดินทางใบใหญ่มาก ข้างในมียาอยู่ เต็มกระเป๋า หมอเห็นแล้วก็ตกใจว่าทำไมจึงมียาเหลือใช้มากมายขนาดนี้"
และยิ่งน่าตกใจมากขึ้นเมื่อรู้ถึงสาเหตุที่ยาเหลือมากขนาดนี้!
ภญ.วุฒิรัต บอกว่า ผู้ป่วยรายนี้เล่าถึงสาเหตุที่มียาเหลือใช้ในบ้านเต็มกระเป๋าเดินทาง ก็เพราะว่าไปพบแพทย์หลายแห่ง และได้รับยาจากสถานพยาบาลหลายๆที่ ทั้งโรงพยาบาลรัฐบาล โรงพยาบาลเอกชน ร้านยา
โดยที่ไม่รู้ว่ายาที่ได้รับมาในแต่ละโรงพยาบาลนั้นเหมือนหรือแตกต่างกัน วันไหนอยากกินยาตัวไหนก็เลือกกินตามความพอใจ ถ้ามีอาการป่วย หรือรู้สึกว่าไม่สบายบางครั้งก็กินยาจากทุกที่ที่ได้มา
ซึ่งถ้าเป็นกรณีหลังนี้ ต้องถือว่าอันตรายมาก เพราะอาจเกิดปัญหาการใช้ยาซ้ำซ้อนเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้
ส่วนอีกปัญหาหนึ่งที่พบบ่อย คือ การมาพบแพทย์ก่อนวันนัด และส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้นำยาที่ใช้เป็นประจำมาด้วย ทำให้แพทย์ก็ไม่ทราบว่ายังมียาเหลืออยู่ จึงสั่งยาเพิ่มให้ถึงวันนัดครั้งถัดไป ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้ป่วยเสียค่าใช้จ่ายเรื่องยามากขึ้น ยาเก่าที่ไม่ได้นำมาก็กลายเป็นยาเหลือใช้ในบ้าน
สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาเหลือใช้ ภญ.วุฒิรัต อธิบายว่า บ่อยครั้งที่ประชาชนใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยแล้วยานั้นๆเหลือใช้ เมื่อเก็บไว้นานๆ ยาอาจจะหมดอายุ หรือเสื่อมสภาพ แต่ผู้ป่วยไม่รู้ พอมีอาการป่วยอีกครั้งก็หยิบยาเดิมมากินอีก ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ผลในการรักษาแล้ว ยังอาจทำให้เกิดอันตรายได้อีกด้วย
ตัวอย่างยาง่ายๆที่เหลือใช้ในบ้านแล้วหยิบมาใช้อีกอาจเกิดอันตรายได้ ก็เช่น ยาฆ่าเชื้อเตตร้าซัยคลินที่หมดอายุ ทำให้เกิดภาวะไตวายได้
นั่นคือปัญหาที่พบในระดับชุมชนและโรงพยาบาล สำหรับในระดับประเทศหรือระดับชาติ "ยาเหลือใช้" ก็เป็นภัยซ่อนเร้นของระบบสุขภาพที่ต้องเร่งแก้ไข
![]() |
ภญ.รศ.ธิดา นิงสานนท์
|
ภญ.รศ.ธิดา นิงสานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ปัญหาสำคัญที่พบในปัจจุบันคือค่าใช้จ่ายด้านยาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี
แต่ละปีรัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณด้านยาเป็นจำนวนมหาศาล จากการสำรวจพบว่าภาครัฐมีค่าใช้จ่ายด้านยาประมาณ 1 ใน 3 ของรายจ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด และเพิ่มขึ้นทุกปี
จนกระทั่งล่าสุดพบว่า ค่าใช้จ่ายด้านยา คิดเป็นเกือบ 50% ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด คิดเป็นมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งเป็นยาต่างประเทศที่มีราคาแพง
จากการศึกษาวิจัย เราพบว่า...มียาเหลือใช้ในครัวเรือนจำนวนมาก สาเหตุเพราะผู้ป่วยซื้อยามาเก็บไว้แล้วไม่ได้ใช้หรือใช้ไม่หมดเพราะอาการหายไปแล้ว หรือจากการที่แพทย์เปลี่ยนการรักษามาใช้ยาตัวใหม่ ยาเดิมไม่ใช้แล้ว แต่ผู้ป่วยยังมียาเหลือจำนวนมาก ผู้ป่วยปรับลดขนาดยาที่ใช้เอง
"ผู้ป่วยบางคนใจดี เห็นว่าเป็นโรคๆเดียวกัน ตัวเองมียาที่แพทย์สั่งเหลืออยู่ สงสารเพื่อนบ้าน เลยเอายาของตัวเองไปให้ ซึ่งจริงๆแล้วขนาดของยา หรือการสั่งจ่ายยาให้กับคนไข้แต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคของคนแต่ละคน
รวมถึงการแพ้ยา ซึ่งบางครั้งผู้ป่วยที่ได้ยาจากเพื่อนบ้านแล้วเกิดอาการแพ้ยาทำให้ป่วยหนักขั้นรุนแรงหรือเสียชีวิตก็มี"
ด้วยความตระหนักต่อความสูญเสียและความเสี่ยงของยาเหลือใช้ดังกล่าว ในงาน "สัปดาห์เภสัช" ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 26 มิ.ย.-2 ก.ค.2553 นี้ สภาเภสัชกรรม ร่วมกับองค์กรวิชาชีพทางเภสัชกรรม จะรณรงค์ลดยาเหลือใช้ในครัวเรือน ภายใต้ คำขวัญ "รอบรู้เรื่องยา ปรึกษาเภสัชฯ ลดยาเหลือใช้ ปลอดภัย ปลอดโรค"
รณรงค์ให้ประชาชนสำรวจยาเหลือใช้ในบ้าน และวิธีการจัดการที่ถูกต้อง ด้วยการให้คำปรึกษา ค้นหาปัญหาเรื่องการใช้ยาของผู้ป่วย รวมทั้งการตรวจสอบยาที่ผู้ป่วยนำมาเมื่อมารับบริการแต่ละครั้ง เพื่อลดปัญหายาเหลือใช้จากการใช้ยาไม่ถูกต้อง
สัปดาห์เภสัชกรรมปีนี้น่าจะเป็นโอกาสดีของการค้นหา ขจัด..."ยาเหลือใช้" ที่ไม่ต่างอะไรกับขยะพิษ ทิ้งไปเสียบ้าง ที่สำคัญ ยังเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศได้.
ยาเหลือใช้ ภัยเงียบที่อาจถึงตาย |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น