มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก...ภัยเงียบที่ถูกมองข้าม

ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้มะเร็งกลายเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตประชากรโลก ไปมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ถึงแม้ว่าอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งจะต่ำกว่าโรคอุบัติเหตุหรือโรคหัวใจก็ตาม แต่การรณรงค์เพื่อป้องกันโรคหัวใจและอุบัติเหตุทำได้อย่างได้ผลดีทั่วโลก จึงทำให้การตายจากโรคทั้งสองนี้ลดลงอย่างเป็นที่น่าพึงพอใจ ต่างจากโรคมะเร็ง
 
มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก...ภัยเงียบที่ถูกมองข้าม
โรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการตายของประชากรโลกมากที่สุด คือมะเร็งปอด รองลงมาคือมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก แต่ในประเทศไทยการตายจากมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักพบเป็นอันดับสาม รองจากมะเร็งตับและมะเร็งปอด โดยที่อุบัติการณ์ของมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักนั้นยังพบน้อยกว่ามะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ผลการรักษาและการป้องกันไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร จึงทำให้สาเหตุการตายจากโรคมะเร็งนี้สูงขึ้นกว่าที่ควรเป็น
 

ความจริงแล้วมะเร็งชนิดนี้สามารถป้องกันได้และรักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยจำนวนมากที่เสียชีวิตจากโรคนี้ก่อนวัยอันสมควรเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก เนื่องจากโรคนี้ในระยะแรกจะไม่มีอาการใดๆ ที่แสดงออกมาให้พบเห็นอย่างชัดเจน ต่อมาเมื่อมีอาการเลือดออกปนกับมูกและอุจจาระ หรือมีอุจจาระก้อนเล็กลง หรือมีอาการลำไส้ใหญ่อุดตัน ก็มักจะมีการกระจายของโรคมะเร็งออกไปสู่ต่อมน้ำเหลืองหรือไปที่ตับแล้ว ทำให้ผลการรักษาให้หายขาดอาจไม่สามารถทำได้ทุกราย
 
โดยธรรมชาติของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักจะใช้เวลานานมาก ในการเปลี่ยนแปลงจากเยื่อบุลำไส้ใหญ่ปกติไปเป็นมะเร็ง จึงมักพบผู้ป่วยโรคนี้ในอายุเฉลี่ยประมาณ 60 ปี โดยกลไกที่ทำให้เกิดโรคคือการผ่าเหล่า (mutation) ของเซลล์เยื่อบุลำไส้ใหญ่ขณะแบ่งตัว ซึ่งเริ่มแรกจะใช้เวลาเกือบ 50 ปี ในการเปลี่ยนเป็นเนื้องอกธรรมดาที่ไม่ใช่มะเร็ง (polyp) จากนั้นใช้เวลาอีกเป็นสิบปีที่เนื้องอกธรรมดานี้จะเปลี่ยนเป็นมะเร็ง
 
ดังนั้นแพทย์จึงมักแนะนำให้บุคคลที่อายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไป ตรวจลำไส้ใหญ่ตลอดความยาวซึ่งสามารถทำได้โดย
 
  • การส่องกล้อง (Colonoscopy)
เป็นการส่องกล้องเข้าไปตรวจลำไส้ใหญ่ตลอดความยาวโดยตรง ที่ปลายท่อจะมีกล้องวิดีโอติดอยู่เพื่อให้เห็นภาพภายในลำไส้ใหญ่และทวารหนักทั้งหมด วิธีนี้สามารถตัดเก็บชิ้นเนื้อที่สงสัยส่งตรวจทางพยาธิวิทยาได้ เป็นวิธีการตรวจที่แม่นยำที่สุด
การส่องกล้อง_Colonoscopy
รูปที่ 1. เนื้องอก polyp ที่ไม่ใช่มะเร็ง แต่ถ้าทิ้งไว้จะเปลี่ยนเป็นมะเร็ง สามารถตรวจพบ และตัดออกโดยใช้กล้อง colonoscope ได้
  • X-Ray ด้วยคอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT-Colonography)

เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง สามารถสร้างภาพของลำไส้ใหญ่ให้เป็นภาพ 2 มิติและ 3 มิติ ทำให้ดูภายในของลำไส้ใหญ่ได้คล้ายกับการส่องกล้อง (Conventional colonoscopy) และมีประสิทธิภาพสูง สามารถค้นหาติ่งเนื้อขนาด 6-8 มม. ได้ถึง 85-90% และขนาด 8 มม. ขึ้นไปถึง 95-100% วิธีการตรวจนี้ยังสามารถใช้เสริมการตรวจโดยวิธีการส่องกล้องในการดูมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะต่างๆ ซึ่งมีการอุดตันและไม่สามารถผ่านกล้องเข้าไปได้ นอกจากนี้ยังสามารถดูผนังนอกของลำไส้ใหญ่ และอวัยวะภายในช่องท้องซึ่งไม่สามารถเห็นด้วยการส่องกล้องได้ด้วย ตรวจได้รวดเร็วภายในเวลา 15-20 นาที

ct-colonography
รูปที่ 2. ภาพมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะที่หนึ่งซึ่งรักษาโดยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว

ให้ผลหายขาดถึง 95 %
           เทคนิคการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้พัฒนาไปอย่างมาก โดยเป็นการผ่าตัดที่เรียกว่า curative resection เพื่อหวังผลหายขาดจะเป็นการตัดเอาลำไส้ใหญ่ที่เป็นมะเร็งออกไปยาวตั้งแต่ 10 ซม.ขึ้นไป ตัดเส้นเลือดที่มาเลี้ยงมะเร็งจากต้นขั้ว และเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองที่คาดว่ามะเร็งจะกระจายออกให้มากที่สุด โดยมาตรฐานการผ่าตัดแล้วต้องตัดต่อมน้ำเหลืองออกไม่น้อยกว่า 12 ต่อมขึ้นไป ส่วนการผ่าตัดมะเร็งบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วน rectum (ลำไส้ตรง) นั้นจะใช้เทคนิคการผ่าตัดแบบ total mesorectal excision (TME) ซึ่งจะตัดเอามะเร็งและต่อมน้ำเหลืองออกหมดให้ผลการผ่าตัดรักษาที่ดีที่สุดในขณะนี้
 
           ผู้ป่วยที่มีการกระจายของมะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลือง จะต้องได้รับเคมีบำบัดภายหลังการผ่าตัด เพราะเชื่อว่าอาจมีเซลล์มะเร็งจำนวนน้อยหลุดลอยออกไปไกล และอาจตรวจไม่พบด้วยตาเปล่าทำให้ไม่สามารถผ่าตัดออกได้ ยาเคมีบำบัดของมะเร็งลำไส้ใหญ่ในปัจจุบันนี้ให้ผลการรักษาดีกว่าเดิมมากและมีผลข้างเคียงน้อย นอกจากนี้ยังมีทั้งชนิดรับประทานและชนิดฉีด สร้างความสะดวกแก่ผู้ป่วยอย่างมาก มีการค้นพบยาชนิดใหม่ที่เรียกว่า targeted therapy โดยยาจะวิ่งไปจับกับเป้าหมาย (target) ซึ่งคือมะเร็งเท่านั้น
 
           การป้องกันโรคเป็นการรักษาที่ดีที่สุด ผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไปควรพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพและตรวจลำไส้ใหญ่ตลอดความยาว สำหรับท่านใดที่เป็นโรคนี้แล้วอย่าลังเลที่จะเข้ามาพบแพทย์เพราะว่าเราเป็นผู้ที่สามารถช่วยท่านได้
 
ขอบคุณแหล่งที่มา : phyathai.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น