การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)



โรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับลำไส้ใหญ่ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ ถือเป็นอีกโรคที่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารของคุณ สำหรับใครที่ชอบทานอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด อาหารดอง ไม่ชอบกินผักและผลไม้ ไม่ชอบดื่มน้ำ เป็นต้น ก็สามารถทำให้เกิดอาการปวดท้องบ่อยๆ จนเรื้อรังได้ ลำไส้ใหญ่ของคนเราเป็นอวัยวะภายใน ที่ทำงานต่อเนื่องกันกับกระเพาะอาหาร เป็นส่วนที่เก็บเอากากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป เพื่อรอการขับถ่ายออก และสำหรับบางคนที่รับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะนักก็อาจจะยิ่งทำให้การขับถ่ายยากมากขึ้น จนเกิดการหมักหมมและก่อให้เกิดโรคต่างๆ ขึ้นได้

เห็นไหมครับว่าเรื่องอาหารการกินก็เป็นเรื่องใหญ่ได้เหมือนกัน ส่วนสำหรับท่านใดที่มักมีปัญหาปวดท้องเรื้อรัง หรืออยากจะรู้ว่าลำไส้ใหญ่ของเรายังมีสภาพดีอยู่หรือไม่นั้น การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (colonscopy) จึงเป็นทางเลือกที่ทันสมัยที่ช่วยคุณได้ แต่ก่อนจะส่องกล้องนั้นเราต้องมีอาการบ่งชี้อย่างไรบ้างนั้น เป็นดังต่อไปนี้

ข้อบ่งชี้ในการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Indication for colonscopy)
  • ท้องเสียเรื้อรัง (Chronic diarrhea)
  • ท้องผูกเรื้อรัง (Chronic constipation)
  • อุจจาระผิดปกติ ลำอุจจาระเล็กลง ท้องผูกสลับท้องเสีย (Bowel habit change)
  • ถ่ายอุจจาระปนเลือด ( Bleeding per rectum)
  • ปวดเบ่ง อยากถ่าย ถ่ายไม่สุด ( Tenesmus)
  • ซีด (Anemia)
  • นำหนักลด ( Weight loss)
  • ปวดท้องน้อยเรื้อรัง ( Chronic lower abdominal pain)
  • มีก้อนในช่องท้อง (Abdominal mass)
  • ประวัติมะเร็งลำไส้ในครอบครัว

การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)
  1. ก่อนส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ แพทย์จะให้ผู้ป่วยเตรียมลำไส้ใหญ่ให้สะอาดด้วยการรับประทานอาหารอ่อน และกินยาระบายประมาณ 1-2 วัน ก่อนการส่องกล้องตรวจและแพทย์จะอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจ
  2. กล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ มีลักษณะเป็นท่อยาวนิ่มๆ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 11.3 ม.ม. โดยแพทย์จะใส่กล้องดังกล่าวเข้าทางทวารผู้ป่วย ขึ้นไปตามลำไส้ใหญ่ยาวประมาณ 1.50 เมตร การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่นี้ อาจทำให้ผู้ป่วยท้องอึดอัดได้ ดังนั้นอาจทำขณะผู้ป่วยตื่นรู้ตัวปกติหรือทำในขณะผู้ป่วยหลับ โดยฉีดยานอนหลับก็ได้
  3. ใช้เวลาในการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ประมาณ 15-30 นาที เมื่อสิ้นสุดการส่องกล้องตรวจ ผู้ป่วยอาจแน่นท้องเป็นเวลาสั้นๆ ส่วนกรณีผู้ป่วยที่ฉีดยานอนหลับก็จะตื่นเมื่อสิ้นสุดการส่องกล้อง นอนพัก 1-2 ชั่วโมง จะกลับบ้านได้
  4. ถ้าพบความผิดปกติใดๆ เช่น แผลอักเสบ เนื้องอก มะเร็ง แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อบริเวณดังกล่าว เพื่อส่งตรวจละเอียดต่อไป
  5. กรณีที่พบเนื้องอก ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนยื่นจากผนังลำไส้ ( polyp) เพื่อตัดเนื้องอกดังกล่าว แพทย์จะใช้ลวดผ่านกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ และใช้กระแสไฟฟ้าผ่านลวดดังกล่าว เพื่อตัดก้อนเนื้องอก (polypectomy) และส่งตรวจรายละเอียดต่อไป
ประโยชน์ของการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
  1. เพื่อดูว่าลำไส้ใหญ่ มีแผล ริดสีดวง เนื้องอก มะเร็ง หรือผิดปกติใดๆ บ้าง
  2. ถ้ามีเลือดออกจากทางเดินอาหารส่วนล่างซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายอุจจาระปนเลือด การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ก็เพื่อหาสาเหตุและจุดเลือดออกว่าอยู่ในบริเวณใด
  3. สามารถห้ามเลือดผ่านกล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ได้
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่

  1. มีเลือดออกหรือลำไส้ทะลุ ซึ่งเกิดได้น้อยกว่า 1:1000
  2. การติดเชื้อ พบได้น้อย เมื่อตัดก้อนเนื้องอก (polypectomy) หรือต้องใช้ไฟฟ้าจี้ห้ามเลือด หรือตัดชิ้นเนื้อ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยนอนพักโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการจนกว่าจะปลอดภัย
ด้งนั้นแล้วสำหรับท่านใดรู้ว่าตัวเองมักปวดท้องอยู่บ่อยๆ ลองสังเกตพฤติกรรมการบริโภคของตัวเองดูสักนิด และหมั่นรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย มีประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ ควรลดอาหารจำพวกอาหารรสจัดๆ และควรดื่มน้ำสะอาดมากๆ เพื่อจะช่วยให้ระบบการย่อยอาหารของเรานั้นไม่ทำงานหนักจนเกินไป จนทำให้เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ได้


ขอบคุณแหล่งข้อมูล: http://www.phyathai.com/
ขอบคุณแหล่งที่มารูปภาพ:  bangkokhealth.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น